Smart City คืออะไร

คำว่า เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City น่าจะเป็นคำคุ้นเคยที่ได้ยินกันตามสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในช่วงระยะเวลาไม่นานนี้ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนามุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City เพื่อมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสอดคล้องกับยุค Thailand 4.0

เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล หรือข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารในการเพิ่มประสิทธิและคุณภาพของบริการชุมชน เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และลดการบริโภคของประชากร โดยยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Smart City เป็นโครงการที่หลาย ๆ เมืองทั่วโลก พยายามพัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0 โดยการเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะทั้งด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองที่สะดวกสบายเหมือนในฝัน เกิดขึ้นได้จริง ทั้งยังทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกันด้วย แนวคิด Smart City เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นรากฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบ ๆ ตัวเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารแบบอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการวางผังเมืองที่ชาญฉลาด รองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายรูปแบบการบริหารจัดการเมืองแบบ Smart City เป็นการสร้างเมืองที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และเลือกใช้พลังงานสะอาด จึงช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ การระบายน้ำ ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี คุณภาพอากาศที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect) แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่คัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะต้นเเบบด้วยกัน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยความร่วมมือของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เน้น 5 เสาหลักสำคัญ ดังนี้

  • เสาหลักที่ 1 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีเป้าหมายในการเลือกเมืองที่มีศักยภาพ ที่จะใช้สำหรับการดำเนินงานนำร่อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
  • เสาหลักที่ 2 การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายที่จะบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ
  • เสาหลักที่ 3 สร้างกลไกบริหารจัดการในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปสู่ภาคปฏิบัติ มีเป้าหมายให้มีผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการพื้นที่ จัดเตรียมองค์กร ระบบ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการให้บริการสาธารณะในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
  • เสาหลักที่ 4 ผลักดันเมืองอัจฉริยะด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม มีเป้าหมายในการส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่สามารถนำไปปรับใช้สำหรับเมืองอัจฉริยะในอนาคต
  • เสาหลักที่ 5 ส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนเข้าถึงการเชื่อมโยงและการใช้งานข้อมูล โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูล สร้างการเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนการวางแผน ตลอดจนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

องค์ประกอบสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

การที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สมบูรณ์แบบ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 7 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ
  2. Smart Community ชุมชนอัจฉริยะ
  3. Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ
  4. Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ
  5. Smart Governance การปกครองอัจฉริยะ
  6. Smart Building อาคารอัจฉริยะ
  7. Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ

ถอดบทเรียนจากความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่เป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่ ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นประเทศที่เกิดขึ้นมาเพียง 50 กว่าปี แต่มากับแผน Smart Nation หรือประเทศแห่งนวัตกรรม ที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะใช้เทคโนโลยี IT ในการสร้างงานและสร้างรายได้ ทั้งยังมีเป้าหมายให้ประเทศกลายเป็นสังคมปลอดเงินสด ใช้ระบบ e-Payment ครอบคลุมในทุกธุรกิจสิงคโปร์เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูล Open Government Data ที่ให้ประชาชน และภาคเอกชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ถึงจะเปลี่ยนเมืองให้ทันสมัยด้วย IT แต่สิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับ Cybersecurity ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยมีการป้องกันความเป็นส่วนตัวในข้อมูลของประชาชนและยังเน้นที่ระบบสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชน และการขนส่ง โดยมองว่าอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหากบริการด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพ มีการขนส่งด้วยเทคโนโลยีรองรับ จะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย โดยด้านขนส่ง สิงคโปร์มีการพัฒนารถยนต์ขับเองได้ และด้านการแพทย์ ก็มีการใช้เทคโนโลยี TeleHealth ที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพ แม้จะอยู่ที่บ้านได้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ ที่มีแอพฯ HealthHub ให้บันทึกข้อมูลสุขภาพแอพฯ MyResponder ที่เมื่อมีผู้ป่วยโรคหัวใจช็อค จะช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งเตือนเรียกรถพยาบาลให้ทันที ด้านการเดินทาง ที่มีแอพฯ MyTransport.SG ที่บอกตารางเวลา เส้นทางการเดินรถ หรือด้านความปลอดภัยที่มีแอพฯ ช่วยรายงานเหตุร้าย หรืออุบัติเหตุ และแอพฯ อื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลออกมาให้ประชาชนใช้กันด้วย

ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ สิงคโปร์เข้าสู่การเป็น Smart City และมุ่งไปสู่การเป็น Smart Nation ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย ล่าสุดเป็น Smart City อันดับหนึ่งใน “ดัชนีผลประกอบการสมาร์ทซิตี้โลก” (Global Smart City Performance Index) ประจำปี ค.ศ. 2017ได้นั้น เกิดมาจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก ต่อให้ประเทศจะมีทรัพยากรจำกัดแค่ไหน แต่สิงคโปร์ก็สามารถเร่งศักยภาพของตนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้จากที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เหนือล้ำกว่าประเทศอื่น ๆ นโยบายทางการศึกษาและแรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่ช่วยผลิตคนให้มีความสามารถในการพัฒนาประเทศต่อไปได้เมืองจะ “สมาร์ท” หรือฉลาด ไม่ใช่เพราะใช้เทคโนโลยีที่จัดว่าฉลาด แต่ฉลาดเพราะใช้เทคโนโลยี “เป็น” ในทางที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร ทำให้เมืองยั่งยืนกว่าเดิม

ประเด็นสำคัญของความสำเร็จนี้ จึงมาจากการพัฒนาคน ปลูกฝังให้ตระหนักและมีส่วนร่วมอย่างมีคุณธรรม ดังนั้นระบบขนส่งดี ๆ ดูตารางรถเมล์ได้ตรงเวลา ท้องถนนไม่แออัด สาธารณสุขเป็นเลิศ บ้านเมืองปลอดภัยมีกล้องวงจรปิด ผลิตพลังงานร่วมกันใช้ ใส่ใจฟังเสียงประชาชน คงเป็นรูปแบบเมืองในฝันที่จะเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่มาจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่เกิดได้จากทุกคนทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาไปด้วยกัน

Message us