ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแสงสว่างกับการดำรงชีวิตของผู้คนในสมัยนี้เป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่นอนหลับ ตื่นนอน เดินทางออกไปทำงาน กลับจากที่ทำงาน ทำกับข้าว หรือแม้แต่กิจวัตรสุดท้ายใน 1 วันคือการนอนก้ยังจะต้องมีแสงสว่างเป็นปัจจัยหลัก เราอาจจะคุ้นตามากที่สุดคือไฟที่อยู่ตามท้องถนน แต่ว่าคุณทราบหรือไม่ว่าใน ปัจจุบันเสาไฟส่องสว่างไม่ได้มีเพียงเสาไฟทื่อๆ แบบที่เราเคยเห็นกัน แต่ถูกพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยมีการออกแบบให้ ประหยัด สะดวก ลดการใช้พลังงาน และในบทความนี้ก็จะขอพูดถึงนิยามของเสาไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3 รูปแบบคือ
1. นิยามระบบควบคุมไฟถนนอัจฉริยะ (Smart IoT Street Solution Definitions)
ระบบควบคุมไฟถนนอัจฉริยะคือเสาไฟส่องสว่างบนท้องถนนที่ถูกพัฒนาเพิ่มเติมให้ทันสมัยยิ่งขึ้นโดยติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ บนเสาไฟนั้นเพื่อให้รองรับตอบสนองความต้องการทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ (IoT) โดยผู้ดูแลระบบสามารถเข้าถึง ควบคุม รู้สถานการณ์ทำงาน รู้ตำแหน่ง ของทุกอุปกรณ์2บนเสาไฟนั้นผ่านเครือข่ายสื่อสารด้วยซอฟท์แวร์บริหารจัดการอันเป็นระบบหนึ่งเดียว และสามารถจัดเก็บบันทึกประวัติข้อมูลย้อนหลัง (Historical Data) เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนการจัดการใช้พลังงานไฟฟ้าและแก้ไขปัญหาในชุมชนให้เกิดประโยชน์ต่อเมืองได้อย่างสมบูรณ์สูงสุด
อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งถูกนำไปติดตั้งบนเสาไฟอัจฉริยะนั้นมีหลากหลายแตกต่างกันออกไปตามแต่ผู้ผลิต อาทิเช่น
1.1 บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi Access Point)
1.2 จอแสดงผลขนาดใหญ่ (LED Digital Signage)
1.3 ลำโพงกระจายเสียง (Audio Broadcast)
1.4 ตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ (Weather Sensor)
1.5 สัญญาณขอความช่วยเหลือ (SOS)
1.6 กล้องวงจรปิด (CCTV)
1.7 ตรวจวัดระดับน้ำ (Waterflood Sensor)
1.8 ปลั๊กจ่ายชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger Station)
1.9 ปลั๊กจ่ายชาร์จโทรศัพท์มือถือ (USB Charger Port)
1.10 โคมไฟส่องสว่าง (Lamp)
1.11 รูปแบบสไตล์ของเสาไฟที่ล้ำนำสมัยกว่าแบบปัจจุบัน (Lamppost)
อุปกรณ์ดังกล่าวจะเชื่อมต่อถึงกันและเชื่อมต่อออกสู่อินเตอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูลไปยังแม่ข่าย (Cloud Server หรือ On-Premise Server) ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลประวัติ ผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งเช่น Wi-Fi, LAN, GSM/LTE, Fiberoptic ก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ติดตั้ง เสาไฟอัจฉริยะจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่จ่ายให้กับอุปกรณ์ต่างๆ บนเสานี้ด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (220VAC) หรือพลังงานทดแทนจากแผงโซล่าเซลล์ก็ได้ (Solar cell Panel)ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตจะออกแบบระบบให้รองรับได้อย่างเหมาะสมและงบประมาณของผู้ซื้อ และประการสุดท้ายที่สำคัญคือเรื่องการต่อยอดพัฒนาซอฟท์แวร์ให้เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับระบบอื่นจึงจำเป็นต้องเปิด API ซึ่งย่อมาจาก Application Programming Interface คือการเชื่อมต่อจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง เพื่อให้ซอฟต์แวร์ภายนอกเข้าถึงและอัพเดทข้อมูลนั้น ๆ ได้ แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่ถูกกำหนดไว้ หรือจะบอกให้ง่ายขึ้นก็คือ API เป็นตัวกลางที่จะทำให้คอยรับคำสั่งต่าง ๆ ประมวลผลและกระทำข้อมูลส่งกลับคืนไปยังคนสั่งโดยอัตโนมัติ
2. ระบบควบคุมไฟถนนอัจฉริยะ (Smart IoT Street Solution Definitions) ถูกแบ่งย่อยออกเป็น 3 ชนิดด้วยกันดังต่อไปนี้
2.1 โคมไฟถนนอัจฉริยะ (Smart IoT Street Lighting)
หมายถึงเสาไฟส่องสว่างบนท้องถนนซึ่งใช้โคมไฟส่องสว่าง (Lamp) ไม่ว่าจะเป็นชนิด LED หรือ High Pressure Sodium ก็ตามโดยมีแหล่งจ่ายไฟชนิดกระแสสลับ (220VAC) ถูกติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะซึ่งเรียกว่าตัวควบคุม (Smart IoT Controller) ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถเข้าถึง ควบคุม รู้สถานะการทำงานของโคมไฟเหล่านั้นผ่านเครือข่ายสื่อสาร (IoT Protocol) ชนิดไร้สายอาทิเช่น ZigBee, SigFox, LoRa, NB, GSM, LTE ตามมาตรฐานย่านความถี่อนุญาตให้ใช้งานได้โดย กสทช. เพื่อสั่งเปิด ปิด หรือหรี่ โคมไฟตามกำหนดวันเวลา หรือตามระดับความเข้มของแสงรอบนอก หรือตามวันเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกดินหรือตามพิกัดตำแหน่ง ที่กำหนดไว้ได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้อาจจะติดตั้งตัวตรวจวัดการเคลื่อนไหว (Motion Sensors) หรือตัววัดแสง (Lux Sensors) เสริมเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ก็ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานไฟฟ้าสูงสุด
2.2 โคมไฟโซล่าอัจฉริยะ (Smart IoT Solar Lighting)
หมายถึงเสาไฟส่องสว่างบนท้องถนนซึ่งใช้โคมไฟส่องสว่าง (Lamp) เป็นชนิด LED โดยมีแหล่งจ่ายไฟชนิดกระแสตรง (DC) กำเนิดจากแผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell Panel) มีแบตเตอร์รี่สำรองเพื่อจัดเก็บประจุไฟฟ้าในช่วงกลางคืนและจ่ายให้โคมไฟส่องสว่างไปได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าสภาวะไร้แสงแดดหรือท้องฟ้ามืด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาตรความจุของแบตเตอร์รี่และขนาดกำลังวัตต์ของแผงโซล่าเซลล์โดยผู้ผลิต โคมไฟจะถูกติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะซึ่งเรียกว่าตัวควบคุม (Smart IoT Controller) ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถเข้าถึง ควบคุม รู้สถานะการทำงานของโคมไฟเหล่านั้นผ่านเครือข่ายสื่อสาร (IoT Protocol) ชนิดไร้สายอาทิเช่น ZigBee, SigFox, LoRa, NB, GSM, LTE ตามมาตรฐานย่านความถี่อนุญาตให้ใช้งานได้โดย กสทช. เพื่อสั่งเปิด ปิด หรือหรี่โคมไฟตามกำหนดวันเวลา หรือตามระดับความเข้มของแสงรอบนอก หรือตามวันเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกดินหรือระบุตามพิกัดตำแหน่งที่กำหนดไว้ได้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้อาจจะติดตั้งตัวตรวจวัดการเคลื่อนไหว (Motion Sensors) หรือตัววัดแสง (Lux Sensors) เสริมเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ก็ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานไฟฟ้าสูงสุด
2.3 เสาไฟอัจฉริยะ (Smart IoT Street Pole)
หมายถึงการนำเทคโนโลยีทั้งหมดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนำมาประยุกต์ใช้งานร่วมกันติดตั้งลงบนเสาไฟต้นดังกล่าว ตามที่ได้อธิบายไว้ในนิยามระบบควบคุมไฟถนนอัจฉริยะ (Smart IoT Street Solution Definitions) โดยจะเลือกติดตั้งอุปกรณ์เสริมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่างก็ได้ตามความเหมาะสมของสถานที่และงบประมาณของผู้ใช้งาน